ไข้เหลือง

ไข้เหลือง มียุงลายเป็นพาหะของโรค และไม่มีการรักษาจำเพาะ เน้นการรักษาตามอาการ และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค

ไข้เหลือง เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา และอเมริกา มาตั้งแต่ 400 ปีก่อน คำว่า “เหลือง” มาจากอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) ที่มักพบในผู้ป่วย และยังมีอาการไข้สูงร่วมกับชีพจรเต้นช้าผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ระยะต่อมาจะมีเลือดออกจากปาก จมูก ตา กระเพาะอาหาร ทำให้อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด จนถึงไตวาย มีโปรตีนปัสสาวะ (albuminuria) และปัสสาวะไม่ออก (anuria) ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยระยะโลหิตเป็นพิษจะเสียชีวิตภายใน 10-14 วัน ที่เหลือจะหายเป็นปกติโดยอวัยวะต่าง ๆ ไม่ถูกทำลาย

ไข้เหลือง

อาการของไข้เหลือง

มีไข้ที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
หนาวสั่น
ปวดศีรษะรุนแรง
ปวดหลัง ปวดตามร่างกาย
เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
ตาแพ้แสง

สาเหตุของไข้เหลือง

ไข้เหลือง เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยถูกยุงพาหะนำโรคกัดที่มีเชื้อไวรัสในตระกูลฟลาวิไวรัสกัด (Flavivirus) พบได้มากในตัวเมืองและแถบชนบทของทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และทะเลแคริบเบียน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมักไม่ได้รับวัคซีนป้องกัน หากเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นโรคไข้เหลืองได้ โดยโรคไข้เหลืองสามารถติดต่อกันแบบคนสู่คนได้หากยุงไปกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อแล้วกัดคนอื่น ๆ ต่อ แต่ไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส

ภาวะแทรกซ้อนของไข้เหลือง

ภาวะแทรกซ้อนของ Yellow Fever มักพบได้ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดง แต่สามารถฟื้นตัวและหายเป็นปกติได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนแรงและอ่อนเพลียอยู่หลายเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ นอกจากนั้น ผู้ป่วยประมาณ 20-50 เปอร์เซ็นต์ก็อาจมีอาการรุนแรงมาก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยบางรายอาจพบว่าการทำงานของไตและตับล้มเหลว มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง มีการติดเชื้อแบคทีเรียอย่างปอดบวมหรือติดเชื้อในกระแสเลือด เพ้อ อยู่ในภาวะโคม่า เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานร่างกายบกพร่องจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

การป้องกัน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง 95% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันภายใน 1 สัปดาห์ วัคซีนป้องกันโรค 1 เข็ม สามารถป้องกันโรคได้นาน 10 ปี หรืออาจอยู่ได้ถึงตลอดชีวิต ผลข้างเคียงพบน้อยมาก และส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน จึงไม่แนะนำให้ฉีดกับเด็กกลุ่มนี้ มี 17 ประเทศในแถบแอฟริกาที่มีแผนการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองในเด็กทั่วประเทศตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยฉีดให้แก่เด็กช่วงอายุ 9 เดือน

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคไข้เหลืองจำเพาะ แต่เป้นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ และให้สารน้ำทดแทนภาวะขาดน้ำ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศที่มีรายงานการเกิดโรคของไข้เหลือง หรือได้เดินทางไปประเทศเหล่านั้นโดยที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หากพบว่าตนเองมีอาการไข้ อาเจียน ตัวเหลือง มีจุดเลือดออกตามตัว หรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ที่มา

thaihealth.or.th

bangkokhealth.com

ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ ouatcel-carton.com